หน้าเว็บ

Monday, August 26, 2013

กฎและกติกาทั่วไป (General Rules)

กติกาฉบับนี้เป็นกติกาสากลทั่วไปที่สามารถใช้ได้กับกีฬาพูลทุกประเภท ยกเว้นจะมีการกำหนดกติกาพิเศษขึ้นมาในการแข่งขันต่างๆ ตามแต่จะตกลงกัน กติกาของพูล-บิลเลียดฉบับนี้ครอบคลุมกติกาของเกมพูลโดยรวมไม่ได้เจาะจงไปทางด้านข้อมูลของอุปกรณ์ และการจัดการแข่งขัน

กีฬาพูลบิลเลียดเป็นกีฬาที่เล่นบนโต๊ะทีมีผิวเรียบปูด้วยผ้าและมีขอบโต๊ะที่บุไว้ด้วยยางที่สามารถสะท้อนได้ เรียกว่า ชิ่ง ผู้เล่นจะใช้ไม้ (ไม้คิว) แทงลูกคิวบอลเพื่อไปกระทบลูกเป้าโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ ลูกเป้าลงหลุมที่มีอยู่ 6 หลุมที่อยู่ในตำแหน่งรอบๆ โต๊ะ เกมจะมีวิธีการเล่นที่แตกต่างกันออกไปว่าลูกใดจะเป็นลูกเป้าที่ถูกกติกาในการที่จะชนะในเกมแข่งขัน

  1. ความรับผิดชอบของผู้เล่น (Player’s Responsibility)

    ผู้เล่นจำเป็นต้องเรียนรู้กฏและกติกาของกีฬาพูลทุกข้อที่จะใช้ในการแข่งขัน โดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันจะมีข้อมูลเกี่ยวกับการแข่งขันให้ทราบ แต่เป็นหน้าที่ของผู้เล่นที่จะต้องศึกษาให้ถี่ถ้วน

  2. การขึ้นชิ่งเพื่อจัดลำดับผู้เล่น (Lagging to Determine Order of Play)

    การเสี่ยงทายด้วยการขึ้นชิ่ง (lag) ถือเป็นการแทงเพื่อหาลำดับในเที่ยวแทงของผู้เล่นก่อนการแข่งขัน ผู้เล่นที่ชนะในการขึ้นชิ่ง มีสิทธิ์เลือกว่าจะให้ผู้เล่นคนใดเล่นก่อน

    ผู้ตัดสินจะวางลูกไว้หลังเส้นเมือง (Head String) ด้านละ 1 ลูกให้ใกล้กับเส้นเมืองมากที่สุด ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะต้องแทงลูกออกไปพร้อมๆ กันให้กระทบชิ่งบนแล้วให้ลูกกลับมาให้ใกล้ชิ่งล่างให้มากกว่าคู่แข่งขัน การขึ้นชิ่งที่ไม่ถูกต้อง และจะถูกปรับแพ้เมื่อ

    1. ลูกคิวบอลที่แทงออกไปวิ่งข้ามเส้นแบ่งข้างโต๊ะ (Long String) เข้าไปยังฝั่งของคู่แข่งขัน
    2. สัมผัสกับชิ่งบนมากกว่า 1 ครั้ง
    3. ลงหลุมหรือตกออกจากโต๊ะ
    4. สัมผัสกับชิ่งทางด้านข้าง
    5. ลูกคิวบอลไปหยุดอยู่ในตำแหน่งมุมของปากหลุม ผ่านจมูกของชิ่งล่าง

    หมายเหตุ: การขึ้นชิ่งจะใช้ไม่ได้ หากมีการทำฟาล์วอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น นอกเหนือจากการทำฟาล์ว (Fouls) ของการแทงในขณะที่ลูกยังไม่หยุดนิ่ง (Balls Still Moving)

    ผู้เล่นจะต้องขึ้นชิ่งใหม่อีกครั้ง เมื่อ

    1. ผู้เล่นแทงลูกออกไปไม่พร้อมกัน และลูกแรกที่แทงออกไปได้กระทบชิ่งบนก่อนผู้เล่นคนที่สองจะได้แทงลูก
    2. ผู้ตัดสินไม่อาจสรุปได้ว่าลูกของผู้เล่นคนใดใกล้ชิ่งล่างมากที่สุด
    3. ผู้เล่นแทงผิดกติกาทั้งคู่
  3. การใช้อุปกรณ์ต่างๆ ของผู้เล่น (Player’s Use of Equipment)

    อุปกรณ์ต่างๆ ที่ผู้เล่นนำมาใช้จะต้องเป็นอุปกรณ์ที่ถูกต้องตามกฏข้อบังคับของ WPA โดยทั่วไปแล้ว ผู้เล่นจะไม่ได้รับอนุญาตให้นำอุปกรณ์แปลกใหม่ที่ไม่เป็นที่รู้จักเข้ามาใช้ในการแข่งขัน อุปกรณ์ที่ผู้เล่นทั่วไปใช้กันอยู่แล้ว ถือเป็นอุปกรณ์ปรกติที่อนุญาตให้นำมาใช้ได้ หากผู้เล่นไม่แน่ใจว่าอุปกรณ์ที่นำมาใช้จะผิดกติกาหรือไม่ ผู้เล่นควรให้ทางคณะกรรมการตรวจสอบอุปกรณ์ดังกล่าวก่อนการแข่งขันให้เรียบร้อย อุปกรณ์ที่ใช้จะต้องเป็นอุปกรณ์ที่ทำมาใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการในกรณีนั้น ๆ ตามการทำฟาล์ว (Fouls) ของการกระทำอันไม่เป็นสุภาพบุรุษ (Unsportsmanlike Conduct)

    1. ไม้คิว (Cue Stick)

      ผู้เล่นสามารถเปลี่ยนไม้คิวที่ใช้ในระหว่างการแข่งขันได้ เช่น ในการแทงเปิด แทงลูกกระโดด หรือในการแทงทั่วไป ผู้เล่นสามารถใช้ด้ามต่อ (a built-in extender or an add-on extender)ที่ทำให้ไม้คิวยาวขึ้นเพื่อการแทงได้

    2. ชอล์ค (Chalk)

      ผู้เล่นต้องใช้ชอล์คฝนหัวคิว และสามารถนำชอล์คของตนเองมาใช้ได้ ตราบใดที่สีของชอล์คไม่แตกต่างจากผ้าปูโต๊ะมากจนเกินไป

    3. เรสต์ (Mechanical Bridges)

      ผู้เล่นสามารถใช้เรสต์ได้ไม่เกิน 2 อันในการแทง โดยอาจนำมาเองได้หากไม่มีอะไรที่แตกต่างจากเรสต์ทั่วไป

    4. ถุงมือ (Gloves)

      ผู้เล่นอาจใส่ถุงมือเพื่อช่วยในการยึด หรือในการวางสะพานมือได้

    5. แป้งฝุ่น (Powder)

      ผู้เล่นอาจใช้แป้งฝุ่นช่วยในการเดินคิวได้หากใช้ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ตัดสิน

  4. การนำลูกกลับมาตั้ง (Spotting Balls)

    ลูกที่จะต้องถูกนำกลับมาตั้งจะนำมาตั้งลงบนเส้นแบ่งข้างของโต๊ะ (Long String) โดยให้อยู่ใกล้จุดสปอต (Foot Spot) มากที่สุดเหลื่อมไปทางชิ่งบน โดยต้องไม่ทำให้มีลูกอื่นลูกใดบนโต๊ะขยับ หากลูกไม่สามารถตั้งบน Foot Spot ได้ ให้นำลูกไปวางในตำแหน่งที่กล่าวมาแล้ว โดยอาจสัมผัสกับลูกอื่นได้ แต่ต้องไม่ทำให้เคลื่อนไหว และต้องไม่สัมผัสกับลูกคิวบอล หาก ลูกคิวบอลอยู่ในพื้นที่ที่กีดขวางตำแหน่งของลูกที่ตั้งอยู่ หากไม่มีตำแหน่งว่างให้ตั้งเหลื่อมมาทางชื่งบนได้ ให้นำลูกไปตั้งในทิศทางตรงข้ามของจุด Foot Spot โดยให้อยู่ในแนวเส้นตรงใกล้กับจุด Foot spot ให้มากที่สุด

  5. การเล่นลูกในมือ (Cue Ball in Hand)

    เมื่อผู้เล่นได้เล่นลูกจากในมือ (Ball in hand) ผู้เล่นสามารถวางลูกคิวบอลลงบนตำแหน่งใดบนโต๊ะก็ได้ตามคำจำกัดความ (Definitions Used in the Rules) ของส่วนต่างๆ ของโต๊ะ (Parts of the Table) และยังคงสามารถขยับตำแหน่งใหม่ได้จนกว่าจะมีการแทงออกไปตามคำจำกัดความ (Definitions Used in the Rules) ของการแทง (Shot) ผู้เล่นอาจใช้ส่วนหนึ่งส่วนใดของไม้คิวในการขยับตำแหน่งของ ลูกคิวบอลได้ แม้กระทั่งหัวคิว แต่ไม่ใช่ในลักษณะการดันออกไปข้างหน้าด้วยหัวคิว ในการแทงเปิดของเกมบางเกม ตำแหน่งของลูกคิวบอลจะถูกกำหนดให้อยู่ในพื้นที่หลังเส้นเมือง (Head String) โดยขึ้นอยู่กับกติกาของเกมนั้นๆ และให้นำการทำฟาล์ว (Fouls) ของการวางลูกคิวบอลผิดตำแหน่ง (Bad Cue Ball Placement) และการทำฟาล์ว (Fouls) ของการแทงลูกผิดกติกาจากบริเวณในเมือง (Bad Play from Behind the Head String)มาใช้ด้วย

    เมื่อผู้เล่นได้เล่นลูกในมือหลังเส้นในเมือง และลูกเป้าทั้งหมดวางอยู่หลังเส้นเมือง ผู้เล่นสามารถขอให้ผู้ตัดสินนำลูกเป้าที่อยู่ใกล้เส้นเมืองมากที่สุดมาตั้งใหม่ที่จุดได้ หากมีมากกว่า 1 ลูกที่มีระยะห่างจากเส้นเมืองเท่าๆ กัน ผู้เล่นสามารถเลือกได้ว่าจะให้นำลูกใดไปตั้งลูกเป้าที่อยู่บนเส้นเมืองพอดี ถือเป็นลูกที่สามารถเล่นได้

  6. มาตรฐานการขานลูกและหลุม (Standard Call Shot)

    ในเกมที่ผู้เล่นต้องมีการขานลูกและหลุมก่อนการแทง ผู้เล่นจะต้องระบุลูกและหลุมที่จะเล่นก่อนการแทงทุกครั้ง ยกเว้นลูกที่มีความชัดเจน รวมทั้งเส้นทางในการแทงและขั้นตอนในการแทงด้วย ว่าจะเข้าชิ่งก่อน หรือไปโดนลูกอื่นแล้วทำให้ลงหลุมไปหรือไม่ ผู้เล่นสามารถระบุลูกที่จะตบได้เพียง 1 ลูก ผู้ตัดสินจะพิจารณาว่าลูกที่ผู้เล่นแทงลงไปเป็นลูกที่ก้ำกึ่งหรือชัดเจน ผู้เล่นจะต้องระบุให้ทราบก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะลูกที่ต้องเกี่ยวข้องกับการกระทบชิ่ง หรือสัมผัสกับลูกอื่นก่อนลงหลุม หากผู้ตัดสินไม่แน่ใจว่าผู้เล่นจะเล่นอย่างไร ผู้ตัดสินมีสิทธิ์ที่จะสอบถามได้

    ในเกมที่ต้องมีการขานหลุม ผู้เล่นสามารถเล่นลูก Safety โดยการขานคำว่า Safety ก่อน ซึ่งจะทำให้เที่ยวแทงของผู้เล่นยุติลงหลังจากแทงออกไป ลูกที่ถูกตบลงหลุมไปจะนำกลับมาตั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกติกาของเกมนั้นๆ

  7. การหยุดของลูกหลังเที่ยวแทง (Balls Settling)

    ในกรณีที่ลูกมีการขยับเล็กน้อยหลังจากที่หยุดแล้ว ซึ่งอาจจะเกิดจากรอยบนผ้าหรือพื้นผิวของโต๊ะที่ไม่เรียบ ให้ถือว่าการเคลื่อนไหวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการแทง ยกเว้นหากการเคลื่อนไหวนั้นทำให้ลูกเกิดตกหลุมลงไป ให้ผู้ตัดสินนำลูกกลับมาตั้งใหม่ให้ใกล้กับตำแหน่งเดิมให้มากที่สุด หากลูกเป้าตกหลุมไปเองในระหว่างที่ลูกคิวบอลได้ถูกแทงออกไปแล้ว ซึ่งทำให้มีผลต่อการแทงในไม้นั้น ผู้ตัดสินจะต้องนำลูกทั้งหมดกลับมาตั้ง แล้วให้ผู้เล่นแทงใหม่อีกครั้ง ไม่ถือเป็นการแทงของผู้เล่นในกรณีนี้ตามคำจำกัดความ (Definitions Used in the Rules) ของลูกลงหลุม (Ball Pocketed)

  8. การนำลูกกลับมาตั้ง (Restoring a Position)

    เมื่อใดก็ตามที่ผู้ตัดสินจำเป็นต้องนำลูกกลับมาตั้ง หรือทำความสะอาด ผู้ตัดสินจะต้องนำลูกกลับไปตั้งในตำแหน่งที่เหมือนเดิมมากที่สุด และผู้เล่นต้องยอมรับในดุลยพินิจของ ผู้ตัดสินในตำแหน่งที่นำกลับไปตั้งใหม่นั้นๆ

  9. การรบกวนจากภายนอก (Outside Interference)

    หากเกิดมีการรบกวนใดๆ ขึ้นที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับผู้เล่น แต่มีผลในเที่ยวแทงนั้นๆ ผู้ตัดสินจะนำลูกกลับมาตั้งที่จุดเดิมให้ใกล้เคียงที่สุด แล้วให้ผู้เล่นแทงใหม่อีกครั้ง หากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้รบกวนหรือเกี่ยวข้องกับการเล่น ผู้ตัดสินจะขยับลูกที่ถูกรบกวนกลับไปยังตำแหน่งเดิม แล้วให้ผู้เล่นเล่นต่อไป หากลูกที่ถูกรบกวนมีปัญหาไม่สามารถนำกลับไปตั้งใหม่ได้ ผู้ตัดสินอาจตกลงกับคู่แข่งขัน ให้เริ่มเล่นเกมนั้นใหม่อีกครั้ง

  10. การโต้แย้งในกติกาหรือการตัดสิน (Prompting Calls and Protesting Rulings)

    หากผู้เล่นมีความข้องใจว่า ผู้ตัดสินทำการตัดสินผิดพลาด ผู้เล่นอาจทักท้วงเพื่อให้ผู้ตัดสินพิจารณาการตัดสินใหม่ให้ถูกต้อง และหาก ผู้ตัดสินยังยืนยันการตัดสินนั้น ให้ถือเป็นเด็ดขาด และหากผู้เล่นยังเห็นว่า ผู้ตัดสินยังมีความผิดพลาดอยู่ ผู้เล่นอาจเรียกร้องให้คณะกรรมการจัดการแข่งขันเข้ามาช่วยคลี่คลายข้อกังขาได้ ผู้ตัดสินจะหยุดการแข่งขันไว้ระยะหนึ่งในขณะที่มีการตรวจสอบกติกาและคำตัดสินนั้น ๆ ตามข้อ d ในการทำฟาล์ว (Fouls) ของการกระทำอันไม่เป็นสุภาพบุรุษ (Unsportsmanlike Conduct) การทำฟาล์วจะต้องมีการขาฟาล์วในทันทีตามการทำฟาล์ว (Fouls)

  11. การยอมแพ้ (Concession)

    หากผู้เล่นยอมแพ้ ถือว่าผู้เล่นแพ้ในแมตช์นั้น เช่น ถ้าผู้เล่นถอดไม้คิวออกจากกันในขณะที่คู่แข่งขันเล่นอยู่ที่โต๊ะ ในขณะที่การแข่งขันอยู่ในช่วงที่กำลังจะมีการแพ้-ชนะ การกระทำเช่นนี้ถือว่าผู้เล่นต้องการยอมแพ้แล้ว ถือว่าเกมการแข่งขันจบสิ้นลงทันที

  12. การเล่นในจุดอับ (Stalemate)

    เมื่อผู้ตัดสินเห็นว่า ตำแหน่งของลูกบนโต๊ะอยู่ในตำแหน่งจุดอับที่ไม่มีผู้เล่นผู้หนึ่งใดยอมเปลี่ยนการเล่น และทำให้เกมยืดเยื้อ ผู้ตัดสินจะให้โอกาสผู้เล่นอีกคนละ 3 ครั้ง หากสถานการณ์ยังเหมือนเดิม ผู้ตัดสินจะสอบถามผู้เล่นทั้งคู่ ว่ายินยอมให้ตั้งลูกเล่นใหม่หรือไม่ ทั้งนี้ อาจทำได้โดยไม่ต้องแทงอีกคนละ 3 ไม้ กติกาในข้อนี้มีระบุไว้ในเกมพูลแต่ละเกมด้วย


Refer to:

No comments:

Post a Comment